หลาย ๆ ท่านคงเกิดคำถามในใจว่า เหตุใด จึงเกิดอาการเหยียบเบรกไม่อยู่หรือ “เบรกแตก” แล้วจะมีวิธีป้องกันแก้ไขอย่างไรกัน? โดยอาการ “เบรกแตก” จะเกิดขึ้นเมื่อเราเหยียบแป้นเบรกจนจมสุด แต่ระบบเบรกกลับไม่ตอบสนอง พูดง่ายๆก็คือ “ไม่สามารถชะลอรถได้ เหมือนไม่มีเบรก”
สาเหตุของอาการ “เบรกแตก”
- น้ำมันเบรกเสื่อมสภาพ จนทำให้ลูกยางในกระบอกปั๊มล้อที่ทำหน้าที่ป้องกันน้ำมันรั่ว เสื่อมสภาพตามไปด้วย จึงทำให้น้ำมันเบรกรั่วออกมา ซึ่งหากคุณอยากตรวจสอบลูกยางตัวนี้ ก็สามารถทำได้ง่าย แค่เพียงถอดล้อออก จากนั้นถอดจานเบรกแล้วเปิดยางกันฝุ่นที่ครอบตัวกระบอกปั๊มออกมา และสังเกตดู หากมีน้ำมันเบรกรั่วออกมา ก็แปลว่าลูกยางเสื่อมแล้ว จัดการเปลี่ยนได้เลย
- สายอ่อน หรือท่อทางเดินน้ำมันเบรกรั่ว อาการนี้ดูได้ง่ายๆ หากมีคราบ หรือรอยซึมของน้ำมันเบรกไหลออกมา
- แรงดันของน้ำมันเบรกมาไม่เต็มระบบ อาการนี้เกิดขึ้นเพราะมีอากาศอยู่ในระบบน้ำมันเบรก ซึ่งอาจเป็นเพราะการไล่อากาศ หรือไล่ลมออกไปไม่หมดจากระบบ เมื่อตอนเปลี่ยนน้ำมันเบรกใหม่ ฯลฯ จึงทำให้ไม่สามารถส่งแรงดันไปได้อย่างเต็มที่
- น้ำมันเบรกหมด หรือเหลือน้อย มันจะส่งผลทำให้เบรกใช้งานได้ไม่เต็มที่ เบรกไม่ค่อยอยู่ หรือเบรกจมลึกผิดปกติ ฯลฯ ให้ตรวจเช็ก และเติมน้ำมันเบรกให้ถึงระดับที่กำหนด
- น้ำมันเบรกชื้น ขณะที่กดเบรกลงไป เบรกจะมีความร้อน และการเสียดสีเกิดขึ้น ดังนั้นเมื่อน้ำมันเบรกมีความชื้นผสมอยู่ มันก็จะระเหยกลายเป็นไอ ลูกสูบไม่สามารถทำงานได้ จึงทำให้เบรกไม่อยู่นั่นเอง
- สายเบรกขาด แม้เปอร์เซ็นต์ในการเกิดขึ้นจะน้อย แต่ใช่ว่าจะไม่มีเลย ซึ่งวิธีสังเกตให้ตรวจดูใต้ท้องรถว่ามีน้ำมันรั่วหรือไม่ และก่อนออกรถให้ทดสอบเหยียบเบรกดูก่อน ว่าเบรกอยู่รึเปล่า
- ผ้าเบรก หากผ้าเบรกหมด ผ้าเบรกไหม้ ฯลฯ ก็มีโอกาสเสี่ยงสูงที่รถของคุณจะเบรกแตกได้เช่นกัน
ข้อปฏิบัติเมื่อ “เบรกแตก”
- เมื่อต้องเผชิญหน้ากับอาการ“เบรกแตก” ต้องตั้งสติจับพวงมาลัยให้มั่น จำไว้ว่า “สติมา ปัญญาเกิด”
- เร่งเปิดไฟฉุกเฉินขึ้นทันที เพื่อเป็นสัญญาณบอกผู้ใช้ถนนคนอื่นๆรับรู้สิ่งผิดปกติ พร้อมเว้นระยะห่างจากรถคุณ
- ถอนเท้าออกจากคั่นเร่ง เพื่อเป็นการลดความเร็วของรถยนต์โดยเร็วที่สุด
- สำหรับ “เกียร์ออโตเมติก” ให้ดึงคันเกียร์จากตำแหน่ง D ลงมาที่ 3 ไล่ลงไปที่ 2 และ L ตามลำดับ หลังจากนั้นเมื่อความเร็วลดลง อย่าดึงลงไปในตำแหน่ง2หรือL ในครั้งเดียวเนื่องจากจะทำให้ “เกียร์พังและรถเสียการทรงตัว”
- สำหรับ “เกียร์ธรรมดา” ให้เหยียบคลัทต์แล้วไล่ลดเกียร์ลงมาเรื่อย ๆ
**ทั้งนี้ การใช้เกียร์ทั้ง 2 ระบบ เรายังสามารถ ดึงเบรกมือช่วยชะลอรถได้ด้วย โดยต้องค่อย ๆ ดึง ห้ามดึงสุดแรงในครั้งเดียวเพราะจะส่งผลให้รถเสียการทรงตัวจนนำมาสู่การเกิดอุบัติเหตุรถหมุนหรืออาจจะพลิกคว่ำได้ อย่างไรก็ตาม เมื่อชะลอรถได้แล้วให้มองหาจุดปลอดภัยเพื่อเข้าจอด
“วิธีป้องกันเบรกแตก”
1. เปลี่ยนถ่ายน้ำมันเบรก ทุกๆ 1 ปี
แม้ว่าไม่มีการรั่วซึมก็ตาม เนื่องจาก “น้ำมันเบรก” มีคุณสมบัติเป็นสารที่ดูดซับความชื้นจากอากาศได้ดี แถมยังสามารถผสมเข้าเป็นเนื้อเดียวกันได้ เมื่อความชื้นเข้ามาปะปนอยู่ใน “น้ำมันเบรก” จะส่งผลให้มีจุดเดือดลดต่ำลง ยิ่งในประเทศไทยยังเป็นเขตที่มีความชื้นสูง จึงเป็นที่มาของการแนะนำให้ “เปลี่ยนถ่ายน้ำมันเบรก” ทุก 1 ปี เพื่อไล่ความชื้นที่ผสมอยู่ในน้ำมันเบรก และยังเป็นการป้องกันการกัดกร่อนจากสนิมที่เกิดจากความชื้น ซึ่งจะทำให้ “ลูกยางเบรกรั่วได้ง่าย”
2. ใช้ผ้าเบรกคุณภาพดี
ผ้าเบรกมีให้เลือกหลายชนิด แต่ผ้าเบรกที่ดี มีคุณภาพ จะต้องสามารถทนความร้อนได้ตามมาตรฐานครับ และเมื่อเราได้ผ้าเบรกที่มีคุณภาพดีแล้ว ให้หมั่นตรวจสอบทุกๆ 3 เดือน หรือทุกๆ 5,000 กิโลเมตร ถ้าพบว่า ผ้าเบรกหนาลงเหลือต่ำกว่า 3 มิลลิเมตร คือ ผ้าเบรกหมด ให้รีบเปลี่ยนทันที
3. อย่าปล่อยให้ จานเบรกบาง
มีหลายคนเจอปัญหาเสียงดังบริเวณล้อ และพบสาเหตุว่าเกิดจาก จานเบรกเป็นรอย จานเบรกคด หรือบิดตัว จนต้องเจียร์จาน ซึ่งการเจียร์จานจะทำให้จานเบรกบางลงครับ และถ้าจานเบรกบางลงจนถึงขีดเตือน (ขีดเตือนบนตัวจาน) แสดงว่าถึงระยะที่ต้องเปลี่ยนจานเบรกแล้ว หากไม่ยอมเปลี่ยน อาจทำให้ลูกสูบเบรกหลุด และเกิดอาการ เบรกแตก ได้ อย่างไรก็ตาม อย่าลืมว่าสิ่งสำคัญที่สุด สำหรับการการป้องกัน “เบรกแตก” ก็คือการหมั่นดูแลระบบเบรกให้อยู่ในสภาพสมบูรณ์พร้อมใช้อยู่เสมอ…นะครับ